NIA ผนึกกำลัง สอน. สร้างสะพานเชื่อมนำเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมอ้อยตั้งแต่เพาะปลูกถึงโรงงาน

NIA ผนึกกำลัง สอน. สร้างสะพานเชื่อมนำเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมอ้อยตั้งแต่เพาะปลูกถึงโรงงาน

     

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน) จัดงาน AgTech Connext 2022 : เชื่อมโยงสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยียกระดับอุตสาหกรรมอ้อย สู่การเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า NIA เป็นหน่วยงานอำนวยความสะดวกเฉพาะด้าน หรือ Focal facilitator เพื่อพัฒนา AgTech startup ให้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในระบบ โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพในระบบนิเวศ ปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มความหลากหลาย อีกทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายพันธมิตร เพื่อการพัฒนาและสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้สมบูรณ์และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ร่วมด้วยนายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สอน. ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุน AgTech Connext ให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทย ให้กับเกษตรกร ธุรกิจเกษตรเพื่อให้ ภาคการเกษตรไทยได้มีการทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่การปลูกอ้อยของไทย รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานให้มีเทคโนโลยีต่างๆ ให้ควบคุมได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโจทย์ต่างๆ ที่ต้องการพลังแนวคิดของคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ต่อด้วยคุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม NIA ได้แนะนำโครงการ AgTech Connext 2022 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสู่เกษตรกรและธุรกิจเกษตร เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพเกิดการเติบโตและใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้งานในภาคธุรกิจเกษตร โดยในวันนี้มี 3 สตาร์ทอัพเกษตร ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยอย่างครบห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ผลิต การจัดการไร่อ้อย จนถึงการส่งอ้อยเข้าถึงโรงงาน โดยมุ่งเน้นเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและธุรกิจเกษตรได้เห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอ้อยจากสตาร์ทอัพเกษตรไทย ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนทำงานร่วมกันกับเกษตรกรและโรงงาน นับได้ว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทยให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

.

เริ่มต้นด้วย คุณวัชรินทร์ ภูมิคง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไบโอม จำกัด แนะนำผลิตภัณฑ์ “อลิซ – จุลินทรีย์คึกคักล้างสารพิษตกค้างในดินและเพิ่มผลผลิต” โดยเป็นผลงานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ในธรรมชาติที่ให้สามารถการย่อยสลายสารพิษตกค้างในดิน ช่วยละลายแร่ธาตุอาหารในดิน ปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตของพืข และสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ที่ทำแปลงสาธิตที่เกี่ยวกับต้นพันธุ์ของอ้อย พบว่า จำนวนรากของอ้อยแข็งแรง ดังนั้นถ้าแปลงอ้อยต้องการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยปลอดภัย อ้อยอินทรีย์ สามารถติดต่อนำไปทดสอบการใช้งานได้

.

ต่อด้วยกระบวนการบริหารจัดการแปลงปลูกอ้อย ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอช จี โรโบติกส์ จำกัด นำเสนอ Field Practice Solution – โดรนในการบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกอ้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่มีการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเพาะปลูกอ้อยระยะต่างๆ ได้แก่ 1) ระยะการเริ่มการปลูก 0-1 เดือน การวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกเพื่อปรับคุณภาพแปลงเตรียมแปลงใหม่หรือพื้นที่ปลูกใหม่ 2) ระยะการปลูก 2-10 เดือน อ้อยเริ่มเจริญเติบโต สามารถตรวจสอบความเสียหาย และปริมาณวัชพืชที่เกิดขึ้น ทำให้สามาถให้เกิดความเฉพาะเจาะจงการพ่นยา ให้ปุ๋ยได้ 3) ระยะเติบโต 2-8 เดือน ติดตามระบบการให้น้ำในแปลงปลูก 4) ระยะใกล้การเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน การตรวจวัดความสมบูรณ์และความหวานไร่อ้อย เพื่อวางแผนเปิดหีบและบริหารจัดการอ้อยเข้าโรงงาน นับได้ว่าเป็นประยุกต์ใช้ทั้ง Hardware & Software เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

.

ปิดท้ายด้วยการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าสู่โรงงาน การประเมินราคารับซื้อหน้าโรงงาน ด้วยระบบของออนเนียนแชค สามารถจำแนกเกรดอ้อยด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพและปัญญาประดิษฐ์สำหรับประเมินราคารับซื้อหน้าโรงงาน โดย นายประเสริฐศักดิ์ ผุงประเสริฐยิ่ง AI Specialist บริษัท ออนเนียนแชค จำกัด นางสาวพรศุลี พรชัยพฤกษ Business Development Manager บริษัท ออนเนียนแชค จำกัด และ นายพงษ์ทัช วรรธนะชีวะ ตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) โดยเป็นการออกแบบระบบที่เหมาะการใช้งานทั้งชาวไร่อ้อย โรงงาน โดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายรูปด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ในปัจจุบันมีความแม่นยำสูงร้อยละ 94.5 ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ 24 ชม. ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ได้อย่างต่อเนื่อง นับได้ว่าเป็นแก้ไขปัญหาการทำงานและสร้างความเชื่อถือในการประเมินคุณภาพอ้อยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

.

โครงการ AgTech Connext จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเกษตรได้พัฒนาทักษะการขยายสู่ตลาดพร้อมได้ลงมือปฏิบัติจริง ขยาย Traction ได้จำนวนมากขึ้น โดยหวังว่าจะมาตอบโจทย์แก้ปัญหาในภาคเกษตร ให้เกิดการทำงานร่วมกันกับเกษตรกรและธุรกิจเกษตร เพื่อเกิดการขยายเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอ้อย สามารถชมย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/tY0G0NClQno

.

และสำหรับท่านใดที่ต้องการติดต่อสตาร์ทอัพทั้งสามรายดังกล่าว สามารถส่งข้อมูลมาที่ https://forms.gle/RJhzkWcVaPXeewNm7

 



คะแนนโหวต :